ประเพณีสงกรานต์ สงกรานต์ (อังกฤษ: Water Festival ถอดเป็นอักษรละติน: Songkran; เขมร:សង្រ្កាន្ត; พม่า: သင်္ကြန်; ลาว: ສົງການ; จีน: 泼水节) เป็นประเพณีของประเทศไทยลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย[1] สันนิษฐานว่า สงกรานต์ได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี (होली) ในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน เริ่มในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 คือ ในเดือนมีนาคม[2]
สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สงกรานต์สืบทอดมาแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมวันที่จัดเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นวันเริ่มปีปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ. 2431 จากนั้นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483[3]
พิธีสงกรานต์เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ สังคมไทยสมัยใหม่เกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festivalหรือ สงครามน้ำ[4] ซึ่งตัดส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมไป
ตำนานนางสงกรานต์ ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[7] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหนทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอนธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
วัน | รูป | พระนาม | ดอกไม้ | อาภรณ์ | ภักษาหาร | หัตถ์ขวา | หัตถ์ซ้าย | พาหนะ |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
วันอาทิตย์ | นางทุงษเทวี | ดอกทับทิม | แก้วปัทมราช | อุทุมพร (ผลมะเดื่อ) | จักร | สังข์ | ครุฑ | |
วันจันทร์ | นางโคราคเทวี | ดอกปีบ | มุกดาหาร | เตล้ง (น้ำมัน) | พระขรรค์ | ไม้เท้า | พยัคฆ์ (เสือ) | |
วันอังคาร | นางรากษสเทวี | ดอกบัวหลวง | แก้วโมรา | โลหิต (เลือด) | ตรีศูล | ธนู | วราหะ (หมู) | |
วันพุธ | นางมัณฑาเทวี | ดอกจำปา | ไพฑูรย์ | นมเนย | เหล็กแหลม | ไม้เท้า | คัสพะ (ลา) | |
วันพฤหัสบดี | นางกิริณีเทวี | ดอกมณฑา | มรกต | ถั่วงา | ขอ | ปืน | คชสาร (ช้าง) | |
วันศุกร์ | นางกิมิทาเทวี | ดอกจงกลนี | บุษราคัม | กล้วยน้ำ | พระขรรภ์ | พิณ | มหิงสา (ควาย) | |
วันเสาร์ | นางมโหทรเทวี | ดอกสามหาว (ผักตบชวา) | นิลรัตน์ | เนื้อทราย | จักร | ตรีศูล | มยุรา ยูง |
สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
- วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
- วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
- วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
- วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
- วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
- วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
- วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
อนึ่งท่าทางของนางสงกรานต์จะกำหนดตามเวลาที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือเวลามหาสงกรานต์ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้[8]
- ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลารุ่งสางถึงเที่ยง (6:00 น. - 11:59 น.) นางสงกรานต์ยืนมา
- ถ้าเป็นเวลาเที่ยงถึงเย็น (12:00 น. - 17:59 น.) นางสงกรานต์นั่งมา
- ถ้าเป็นเวลาค่ำถึงเที่ยงคืน (18:00 น. - 23:59 น.) นางสงกรานต์นอนลืมตามา
- ถ้าเป็นเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00:00 น. - 05:59 น.) นางสงกรานต์นอนหลับตามา
- แหล่งที่มา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น